จุดเริ่มต้นมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวเขาที่บ้านดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2512 แล้วพบว่า ชาวเขาส่วนมากยังมีฐานะยากจนและมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก โดยมีการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อยลอยเป็นอาชีพหลัก ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมาย เพราะเป็นต้นตอของการผลิตยาเสพติดแล้ว การปลูกฝิ่นยังเป็นการทำลายธรรมชาติ ทำให้ป่าต้นไม้เสียหาย และนั่นก็ไม่ได้ทำให้ชาวเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
พระองค์จึงริเริ่มโครงการหลวงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเขา ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวเขา และกำจัดการปลูกฝิ่น เพื่อลดปัญหายาเสพติดในประเทศ โดยพระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 200,000 บาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจัดหาที่ดินดำเนินงานวิจัยไม้ผลเมืองหนาวเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงสถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งมีพื้นที่คับแคบ
ต่อมาพระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ตั้งสถานีเกษตรกรหลวงอ่างขาง ซึ่งถือว่าเป็นสถานีวิจัยแรกของโครงการหลวง โดยระยะเริ่มต้นของโครงการ ได้มีการทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ เพื่อวิจัยว่าพืชชนิดใดมีความเหมาะสมกับพื้นที่สูงของประเทศไทย แล้วนำมาสนับสนุนให้ชาวเขาเพาะปลูกแทนการปลูกฝิ่น จนปัจจุบันมีพืชเศรษฐกิจหลายชนิดที่ประสบผลสำเร็จ มีผลผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด เช่น สตรอว์เบอร์รี กาแฟอาราบิก้า ถั่วแดง กะหล่ำปลี พีช กีวี เสาวรส เป็นต้น
รวมถึงยังมีการนำผักผลไม้สดที่ผลิตได้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อตราสินค้า "ดอยคำ" ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะเขือเทศ น้ำเสาวรส ลิ้นจี่ลอยแก้ว ผลไม้อบแห้ง แยมผลไม้ และน้ำผึ้งสมุนไพร ซึ่งนอกจากโครงการหลวงจะได้สร้างคุณประโยชน์ต่อชาวเขาให้มีอาชีพทำกิน เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังได้สร้างประโยชน์ให้ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ได้มีอาหารปลอดสารพิษ อาหารคุณภาพดีไว้บริโภค โดยเฉพาะพืชเมืองหนาวหลาย ๆ ชนิดที่ได้มีการศึกษาวิจัยจนสามารถเพาะพันธุ์ในเมืองไทยได้ จึงไม่ต้องนำเข้าจากเมืองนอก เป็นการช่วยลดภาระให้ประเทศชาติ อีกทั้งยังสามารถส่งออกได้อีก ซึ่งนับว่า โครงการหลวงเป็นโครงการที่พลิกชีวิตชาวเขา ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงและยั่งยืน
สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512 ที่ว่า...“เรื่องที่จะช่วยชาวเขา และโครงการของชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้ให้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้และพยุงตัว มีความเจริญได้”....
สำหรับปัจจุบันโครงการหลวงมีสถานีวิจัย ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง, สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์, สถานีเกษตรหลวงปางดะ และสถานีวิจัยกาแฟอราบิก้าแม่หลอด รวมทั้งมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอีกถึง 21 แห่ง
Credit by
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น