โครงการอาชีพพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9
ปลานิลจิตรลดา
โครงการปลานิลจิตรลดา เริ่มมาจากที่พระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (Tilapia) จำนวน 50 ตัว แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จากนั้นพระองค์จึงทรงทดลองเลี้ยงปลาชนิดนี้ภายในสวนจิตรลดา ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็พบว่าปลาชนิดนี้เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในประเทศไทย
จนกระทั่งในวันที่ 17 มีนาคม 2509 พระองค์ได้พระราชทานลูกปลานิล จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงและเป็นการสร้างอาชีพให้เกษตรกรชาวไทย พร้อมพระราชทานนามว่า “ปลานิล” เพราะมีสีเทา ๆ ดำ ๆ อีกทั้งยังเข้ากับชื่อแม่น้ำไนล์ (Nile) ซึ่งที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของปลาชนิดนี้ รวมทั้งคำว่า ปลานิล ยังเป็นชื่อที่สั้น เป็นที่จดจำได้ง่ายของคนทั่วไป
หลังจากนั้น กรมประมงจึงได้นำปลานิลไปทดลองและเพาะเลี้ยงในสถานีประมงต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาแจกจ่ายพันธุ์ปลานิลให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ปลานิลก็กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตปลานิลได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตันต่อปี โดยมีมูลค่าตลาดรวมถึง 10 ล้านบาท พร้อมยังสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเกือบ 20,000 ตันต่อปีอีกด้วย
และนอกจากเรื่องการสร้างอาชีพให้ผู้เพาะเลี้ยงแล้ว ปลานิลยังเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ให้โปรตีนสูง และมีราคาไม่แพง การแพร่พันธุ์ปลานิลจึงเป็นการสนองพระราชดำริเผยแพร่อาหารโปรตีนราคาถูกให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารที่ไม่ค่อยมีอาหารประเภทโปรตีน ได้รับประทานอาหารประเภทนี้มากขึ้นเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต
แต่รู้ไหมว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ไม่โปรดเสวยปลานิล ซึ่งทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยพระองค์ทรงมีรับสั่งว่า ที่ไม่โปรดเสวยปลานิลนั้น "ก็เพราะเลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร"
Credit by
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น