วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2561

โคนมพระราชทาน

โครงการอาชีพพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9




โคนมพระราชทาน

          อาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เกิดจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครั้งเสด็จประพาสทวีปยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2503 ทรงให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์กเป็นอย่างมาก เพราะทรงตระหนักว่า "นม" มีคุณค่าทางอาหารสูงและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ อีกทั้งการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้เกษตรกรชาวไทยมีอาชีพที่มั่นคงดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า “การเลี้ยงโคนมก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับคนไทย เหมาะกับประเทศ และถ้าใช้หลักวิชาที่เหมาะสม ก็จะทำให้มีความเจริญและมีรายได้ดี”











       ในขณะนั้นประเทศเดนมาร์ค ถือได้ว่ามีเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมที่ทันสมัยที่สุด ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสำรวจพื้นที่ในประเทศไทย ทีมสำรวจขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจกันตั้งแต่เขาใหญ่จนถึงหัวหิน และพบว่าบริเวณจังหวัดสระบุรี มีธรรมชาติและแหล่งน้ำ เหมาะแก่การทำฟาร์มโคนมที่สุด









          หลังจากนั้น จึงเริ่มส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทยขึ้น จากความร่วมมือของประเทศเดนมาร์กที่ได้ส่งนักวิชาการเข้ามาช่วยเหลือ และได้จัดตั้งเป็น "ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก" ขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2505 นับเป็นกิจการฟาร์มโคนมแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งพัฒนาต่อยอดจนมาถึงปัจจุบัน กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในประเทศจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบัน เรามีนมโคแท้จากโครงการพระราชดำริ ให้เลือกบริโภคเพื่อสุขภาพอยู่มากมายหลายยี่ห้อ อย่างเช่น นมไทย-เดนมาร์ก, นมยู.เอช.ที. สวนจิตรลดา, นมหนองโพ, นมสดชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และนมอัดเม็ดสวนจิตรลดา 








         อาชีพการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เป็นอาชีพพระราชทาน ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2505 เป็นต้นมา สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนชาวไทย ไม่น้อยกว่า 26,000 ครอบครัว สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์นม ปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท (กรมส่งเสริมสหกรณ์ : ข้อมูล MOU ปี 2557/2558)







     ในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ได้รวมกลุ่มกันดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ ตามแนวพระราชดำริเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ส่งผลในวงกว้างในการผลักดันให้รัฐบาล และภาคเอกชนดำเนินการ ส่งเสริมการทำฟาร์มโคนม และเกิดการแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมนมครบวงจร ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อกิจการโคนมไทยดังกล่าว จึงทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการโคนมไทย”










Credit by

http://www.dpo.go.th/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น